แบบจำลองสารสนเทศอาคาร หรือ BIM เป็นกระบวนการ (Process) ไม่ใช่ซอฟต์แวร์ (Software) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อที่จะบูรณาการการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ ของการออกแบบและการก่อสร้างอาคารสถาปัตยกรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อลดขั้นตอน ลดความซ้ำซ้อน ลดความขัดแย้ง และลดปัญหาอันเกิดมาจากข้อมูลที่ผิดพลาด อันเกิดขึ้นจากกระบวนการทำงานในลักษณะเดิม
ดังนั้น แบบจำลองสารสนเทศอาคาร หรือ BIM จึงถูกวางกระบวนการเริ่มตั้งแต่การวางโจทย์ของโครงการ การออกแบบแนวคิดของโครงการ ไปจนถึงขั้นตอนการพัฒนาเพื่อนำไปสู่แบบสำหรับก่อสร้าง งานก่อสร้างและการควบคุมการก่อสร้าง ไปจนถึงการดูแลและบำรุงรักษาอาคารภายหลังจากที่อาคารนั้นสร้างเสร็จแล้ว เรียกง่ายๆ ว่า BIM นั้นมองกระบวนการตั้งแต่การเริ่มต้นของอาคารไปจนครบวงจรชีวิต (Live Cycle) ของอาคาร โดยในการทำ BIM นั้นจะมีการสร้างแบบจำลอง หรือโมเมล 3 มิติ (Building Model) ที่ประกอบด้วยข้อมูลสารสนเทศ (Information) ขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับบูรณาการกระบวนการทำงานที่กล่าวมาทั้งหมดเข้าด้วยกันนั่นเอง
LOD (Level of Development)
ระดับความละเอียดของแบบจำลองที่สัมพันธ์กับกระบวนการทำงาน ที่จะเป็นแผนที่นำทางให้กับผู้จะทำงานบนกระบวนการของ BIM
LOD (Level of Development)
BIM นั้นเป็นกระบวนการในการสร้างแบบจำลองอาคาร 3 มิติขึ้นมา ดังนั้นในแต่ละขั้นตอนของการทำงานในกระบวนการต่างๆ ในแต่ละขั้นตอน จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดเกณฑ์ของระดับความละเอียดของโมเดลและข้อมูลประกอบโมเดลขึ้นมา ซึ่งก็จะเรียกย่อๆ LOD เพื่อเป็นตัวกำหนดให้การสร้างแบบจำลองพร้อมข้อมูลประกอบนั้นสัมพันธ์และสอดคล้องกับขั้นตอนในการทำงานต่างๆ นั่นเอง
ซึ่งในหลายๆ ประเทศก็จะมีการกำหนดเกณฑ์นี้ออกมาเป็นแบบตัวเลข เช่น LOD100, LOD200, LOD350 เป็นต้น หรือสำหรับในประเทศไทยก็จะกำหนด LOD ให้สอดคล้องกับขั้นตอนในการทำงาน เช่น ขั้นตอนแนวความคิดในการออกแบบ (Conceptual Design), ขั้นตอนพัฒนาแบบ (Design Development) เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนั้นมีความเข้าใจวัตถุประสงค์และเป้าของการพัฒนาแบบจำลองนั้นๆ ให้ถูกต้องและเข้าใจตรงกัน
การกำหนด LOD (Level of Development) จะมีส่วนประกอบของรูปแบบข้อมูลที่นำมาใช้ออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ ข้อมูลกราฟิก (Graphics) ซึ่งก็คือตัวโมเดลที่เป็นส่วนของแบบจำลองทั้ง 2 มิติและ 3 มิติ และข้อมูลที่ไม่ใช่กราฟิก (Non-Graphics) ซึ่งก็คือข้อมูลที่ถูกใส่ลงไปในตัวองค์ประกอบต่างๆ ของแบบจำลอง
หลักการและกระบวนการ BIM
หลักการและกระบวนการทำงานภายใต้ระบบ BIM นั้นก็จะต้องทำงานผ่านซอฟท์แวร์ที่ถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อรองรับกระบวนการดังกล่าว โดยลักษณะของซอฟท์แวร์จะมีลักษณะเน้นไปที่การทำงานในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติขึ้นมาเป็นหลัก และก็จะมีกลไกในการควบคุมขนาดและสัดส่วนต่างๆ ของวัตถุด้วยระบบพารามิเตอร์ (Parametric Object-Based) ซึ่งการควบคุมการทำงานนั้นจะเป็นการทำงานผ่านมุมมองต่างๆ ทั้งมุมมองที่เป็น 2 มิติ และ 3 มิติ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของวัตถุใดๆ ในมุมมองก็จะส่งผลไปถึงมุมมองอื่นทั้งหมด ทำให้การสร้างสรรค์งานสามารถทำได้อย่างราบรื่นไปพร้อมๆ กัน โดยที่ไม่ต้องกังวลความสัมพันธ์ของแบบในมุมมองต่างๆ อีกต่อไป เช่น เมื่อมีการขยับหรือลบผนังในมุมมองผังพื้น ก็จะส่งผลต่อการแสดงผลกับมุมมองอื่นๆ ทุกมุมมองโดยอัตโนมัติ เป็นต้น
ซอฟท์แวร์ที่พัฒนาขึ้นบนระบบ BIM นั้น จึงมีลักษณะของการแสดงผลของแบบจำลองในหลากหลายมุมมอง ทั้ง 2 มิติและ 3 มิติ อันได้แก่ ผังพื้น รูปด้าน รูปตัด ทัศนียภาพ และ Isometric เป็นต้น หรือยังสามารถแสดงข้อมูลของแบบจำลองออกมาในรูปแบบของตารางรายการได้ เช่น ตารางแสดงปริมาณวัสดุผนัง ปริมาณของเหล็ก Rebar หรือตารางแสดงพื้นที่ใช้สอยในแต่ละห้อง เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไขในส่วนใดของแบบจำลองที่สร้างขึ้น การแก้ไขนั้นก็จะส่งผลออกไปยังทุกๆ มุมมอง เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนตามกันทั้งหมด และรวมถึงความสัมพันธ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของกราฟิก (Graphics) และข้อมูลที่ไม่ใช่กราฟิก (Non-Graphics)
OPEN BIM® กับมาตรฐานข้อมูลกลาง IFC (Industry Foundation Classes)
ซอฟท์แวร์ที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองกระบวนการในระบบ BIM ในปัจจุบันนั้นมีหลากหลายซอฟท์แวร์ด้วยกัน เช่น Autodesk Revit, ArchiCAD, Vectorworks, Allplan, AECOsim, Tekla Structure, SketchUP BIM เป็นต้น ซึ่งความสามารถของซอฟท์แวร์ในแต่ละตัวนั้นก็แตกต่างกันออกไป และแต่ละซอฟท์แวร์ก็จะมีมาตรฐานและลักษณะของการจัดเก็บไฟล์ข้อมูลที่มีลักษณะเฉพาะของตนเอง ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันนั้นทำไม่ได้
ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการกำหนดมาตรฐานกลางขึ้นมาในลักษณะของ OPEN BIM โดยหน่วยงาน buildingSMART เพื่อให้เป็นวิธีการมาตรฐานสากลสำหรับการทำงานร่วมกันโดยไม่ยึดติดกับซอฟท์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาแบบจำลอง BIM ทำให้การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างซอฟท์แวร์ BIM สามารถทำได้โดยง่าย ซึ่งมาตรฐานข้อมูลกลางที่ถูกพัฒนาขึ้นมานั้นมีชื่อว่า IFC (Industry Foundation Classes) และซอฟท์แวร์ประเภท BIM ทุกค่ายก็จะสามารถทำการส่งออกไฟล์ IFC ออกมา และสามารถทำการ Link หรือนำเข้าไฟล์ประเภท IFC นี้เข้าไปใช้งานร่วมกันได้
2D 3D 4D 5D and 6D
กระบวนการของระบบ BIM นั้นคือการเชื่อมโยงและบูรณาการการทำงานของส่วนต่างๆ เข้าด้วยกัน กระบวนของ BIM จึงเป็นการเชื่อมโยงมิติของการทำงานหลายมิติเข้ามาประกอบเข้าด้วยกัน
จากการทำงานในลักษณะของ 2D และ 3D ในลักษณะเดิม ก็จะมีการเพิ่มเติมมิติของเวลา (4D) ซึ่งจะใช้ในกระบวนการก่อสร้างที่จะต้องมีการวางแผนและควบคุมระยะเวลาในการดำเนินการ การเพิ่มเรื่องของราคาค่าใช้จ่าย (5D) เข้ามา เพื่อให้มิติของแบบก่อสร้าง เวลา และค่าใช้จ่ายนั้นมีความสัมพันธ์กัน และเมื่ออาคารนั้นได้มีการสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว แบบจำลอง BIM นั้นก็จะถูกพัฒนาให้มีลักษณะเหมือนกันกับอาคารที่ก่อสร้างขึ้น พร้อมกับข้อมูลประกอบอาคารได้ถูกใส่ลงไปในแบบจำลอง ซึ่งแบบจำลองในลักษณะนี้จะเรียว่า “As-Built BIM” โดยแบบจำลองนี้ก็จะถูกนำไปใช้สำหรับการบริหารและบำรุงรักษา (6D) ซึ่งนั่นก็จะครบวงจนของกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การก่อสร้าง การดูแลอาคาร ไปจนอาคารนั้นถูกรื้อทำลาย จาก 2D ไปจนถึง 6D นั่นเอง
การที่เราจะเริ่มต้นทำงานบนระบบ BIM สิ่งที่สำคัญที่ไม่น้อยไปกว่าเรื่องของการเรียนรู้การใช้เครื่องมือหรือซอฟท์แวร์บนระบบ BIM นั้นก็คือการกำหนดเป้าหมายของการ Implement ว่าจะนำเทคโนโลยีนี้มาตอบสนองกระบวนการทำงานในลักษณะใด และประโยชน์ที่ได้รับที่ต้องการคืออะไร ดังนั้นการวางแผนจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อความสำเร็จที่จะขึ้นกับการพัฒนาองค์กรไปสู่ BIM ทั้งการวางแผนที่ด้านบุคลากร (Human Resource), ด้านแผนปฏิบัติการ (BIM Execution Plan), ขั้นตอนของการทำแบบจำลอง (BIM Modeling Process Setup) ตลอดจนการวางมาตรฐานของแบบจำลอง (Project Standard) เป็นต้น
1. เริ่มต้นจากการเรียนรู้และฝึกฝนการใช้ซอฟท์แวร์ในการสร้างโมเดล BIM ขึ้นมา
2. พัฒนาโมเดลที่ได้ทำการขึ้นไว้ให้มี Output ออกมาเป็น Document เช่น แบบขออนุญาต แบบก่อสร้าง เป็นต้น
3. ตรวจสอบข้อมูลต่างๆ ที่บันทึกไว้ในโมเดลว่าถูกต้องหรือไม่ เพื่อให้ได้ Output ในรูปแบบที่ไม่ใช่กราฟิก (Non-Graphics) นั้นถูกต้อง เช่น ตารางแสดงปริมาณวัสดุ เป็นต้น
4. นำโมเดลที่นั่นมาใช้สำหรับการวิเคราะห์ในด้านต่างๆ เช่น การวิเคราะห์พื้นที่ การวิเคราะห์พลังงาน การวิเคราะห์โครงสร้าง การวิเคราะห์ระบบปรับอากาศ เป็นต้น
5. นำโมเดลที่สร้างขึ้นมาใช้สำหรับการวางแผนและการบริหารจัดการในลักษณะของ 4D, 5D และ 6D
เป็นสิ่งแรกเลยที่ผู้ใช้จะได้รับจากการทำ BIM เพื่อเอามาช่วยในกระบวนการออกแบบและการนำเสนองาน โดยมันจะช่วยลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน และสามารถทำงานออกแบบไปพร้อมๆ กับการตรวจสอบข้อมูลได้ด้วย เช่น เมื่อมีการเขียนห้องขึ้นมาสักห้องหนึ่ง เราก็สามารถทำการตรวจสอบพื้นที่ของห้องและปริมาตรของห้องนั้นไปได้พร้อมๆ กันกับการเขียน และเมื่อมีการปรับเปลี่ยนขอบเขตของห้อง พื้นที่และปริมาตรของห้องนั้นๆ ก็จะทำการปรับเปลี่ยนได้โดยอัตโนมัติ เป็นต้น เรียกง่ายๆ ว่า เราสามารทำงานออกแบบ (Design) นำเสนอ (Visualize) และวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis) ได้ไปพร้อมๆ กันบนระบบ BIM
การใช้ BIM ในการประสานแบบร่วมกันระหว่างงานสถาปัตยกรรม งานโครงสร้าง งานระบบ งานตกแต่งภายใน งานภูมิสถาปัตย์ ด้วยการสร้างโมเดลของส่วนงานต่างๆ ขึ้นมา แล้วนำมาประสานรวมกันทำให้เห็นข้อบกพร่อง ผิดพลาด และไม่สัมพันธ์กันของการออกแบบงานของแต่ละฝ่าย ทำให้ทีมงานสามารถลดผลกระทบอันเกิดจากความถูกต้องและข้อขัดแย้งเหล่านี้ได้ง่ายก่อนที่ปัญหาเหล่านี้จะถูกส่งไปหน้างานก่อสร้าง
อีกหนึ่งประการที่มีประโยชน์ไม่น้อยทีเดียว ที่เราสามารถใช้ BIM ในการตอบสนองกระบวนการทำงานใน Prefabrication ได้ ซึ่งการทำงานในลักษณะนี้จะต้องมีการเคลียร์ความถูกต้องของตำแหน่งของการวาง Sleeve หรือ Block Out ตลอดจน Joint และ Shear Key ต่างๆ ของแผ่น Precast ซึ่งระบบ BIM จะช่วยให้กระบวนจัดทำแบบสำหรับการผลิตแผ่นนั้นถูกต้อง แม่นยำ และลดกระบวนการทำงานที่ซ้ำซ้อนลง
BIM นั้นเข้ามามีส่วนช่วยในกระบวนการสื่อสารกันระหว่างการทำงานของทีมงานเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้อันเนื่องจากการมองเห็นชิ้นงานเป็น 3 มิติ พร้อมกันกับข้อมูลประกอบ ทำให้กระบวนการสื่อสารและการตัดสินในการทำงานร่วมกันนั้นมีความรอบคอบและเห็นจุดบกพร่อง และลดปัญหาของ Unforeseen ที่เกิดขึ้นได้ง่าย ตลอดจน BIM นั้นยังสามารถทำการเชื่อมโยงกันผ่านระบบ Cloud ได้ ทำให้การประสานงานและสื่อสารร่วมกันระหว่างทีมงาน สามารถทำได้จากหลายๆ สถานที่แล้ว เช่น งานสถาปัตยกรรมจัดทำในประเทศไทย งานวิศวกรรมจัดทำที่ประเทศเวียดนาม เป็นต้น
การทำงานบน BIM นั้นมีประโยชน์เป็นอย่างมาก ทั้งนี้อันเนื่องมาจากภายในโมเดลที่เราได้สร้างขึ้นนั้น จะมีข้อมูลฝังอยู่ภายในตัวโมเดลที่สร้าง จึงทำให้เราสามารถทำการ Simulation จำลองภาพของผลงานออกแบบแสดงออกมาในลักษณะต่างๆ เช่น การ Render เพื่อการดูสภาพของแสงสว่างภายในห้อง หรือจะเป็นการจำลองโมเดลของการก่อสร้างที่สัมพันธ์กันกับเวลาของการก่อสร้าง (4D) ตลอดจนการวิเคราะห์ค่าพลังงาน และการวิเคราะห์โครงสร้าง เป็นต้น
เป็นสิ่งที่มีประโยชน์เป็นอย่างยิ่งที่เราจะมีโมเดลของอาคารที่มีลักษณะเหมือนกันกับที่สร้างขึ้น และมีข้อมูลประกอบตัวโมเดลนั้นๆ อยู่ด้วย (As-Built BIM) ซึ่งก็จะช่วยให้เราสามารถนำโมเดลนั้นไปใช้สำหรับการดูแล และบริหารจัดการสาธารณูปโภคอาคาร ไม่ว่าจะเป็นจำนวนและตำแหน่งของครุภัณฑ์ จำนวนและตำแหน่งของอุปกรณ์ไฟฟ้า จำนวนหลอดไฟ และอื่นๆ อีกมากมายที่มีอยู่ภายในอาคาร รวมถึงข้อมูลประเภทระยะเวลาของการประกัน ยี่ห้อ ผู้ผลิต ก็สามารถบันทึกเข้าไปภายในระบบได้ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่ของการบำรุงรักษาอาคาร การจัดการทรัพย์สิน (Asset Management)
“เมื่อเราทำการเปลี่ยนแปลงเครื่องมือ ย่อมเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการใช้เครื่องมือโดยอัตโนมัติ” ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงจาก CAD ไปสู่ BIM ย่อมมีผลกระทบต่อกระบวนการทำงาน (Proces) ในองค์กรโดยอัตโนมัติเช่นกัน ดังนั้นหากเราจะพัฒนาองค์กรไปสู่ระบบ BIM ก็ไม่ใช่เพียงแต่เปลี่ยนเครื่องมือของการทำงานเพียงอย่างเดียว แต่ต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเสียมากกว่า
การเรียนรู้การใช้ซอฟท์แวร์ของระบบ BIM ก็เท่ากับเป็นเพียงแค่การเริ่มต้นการเรียนรู้การใช้เครื่องมือบนระบบ BIM เท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญมากไปกว่าการเรียนรู้การใช้เครื่องมือ ก็คือการปรับเปลี่ยนการจัดการและกระบวนการให้สอดคล้องกับระบบ BIM ถึงจะทำให้ท่านบรรลุเป้ามาย
VR Digital Company Limited Founded 1993 as Vector Raster Technologies was established by Professional Architects as a Design Visualization / Presentation Drawings / Software Integration company
with experience in the Architecture, Engineering & Construction (AEC) and Media & Entertainment (M&E) fields for almost 30 years
ADDRESS: 154 Soi Suksan, Surawong Road, Si Phraya, Bangrak, Bangkok 10500, THAILAND
TEL. | +662 267 6388-9
FAX. | +662 233 5024
EMAIL | info@vr-3d.com
MON - FRI: 08:00 - 17:00